ประวัติโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เมื่อ พ.ศ. 2455 หลังจากที่พลเรือโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์สิ้นพระชนม์ได้ 1 ปี ทายาทได้พร้อมใจกันยกตำหนักของพระองค์ท่าน พร้อมด้วยที่ดินบริเวณใกล้เคียงให้เป็นของรัฐบาลเพื่อจัดเป็นสถานศึกษาสำหรับกุลสตรี เนื่องด้วยเห็นว่าในสมัยนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว แต่โรงเรียนสำหรับสั่งสอนอบรมกุลสตรีให้มีความรู้ทัดเทียมกับกุลบุตรยังมีจำนวนน้อยอยู่ ถ้าได้ยกตำหนักให้เป็นของรัฐบาล ใช้เป็นโรงเรียนสำหรับกุลสตรีจะเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป ทั้งจะเป็นการชอบด้วยพระอัธยาศัยของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นพระนัดดาจึงได้นำความนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอนุโมทนาและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามโรงเรียนว่า“ สายปัญญา ”
ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงออกแบบให้เป็นรูปโล่พื้นสีน้ำเงิน ซึ่งเปรียบประดุจท้องฟ้า และมีสายฟ้าแลบ 3 สาย สีเหลืองหรือสีทองพาดผ่านลงมา เปรียบเสมือนโรงเรียน เป็นสถานที่ให้แสงสว่าง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรประทานความเห็นว่า “สายสนิทวงศ์” เป็นชื่อบุคคล “สายปัญญา” เป็นชื่อโรงเรียน ฉะนั้น “สายฟ้าแลบ” จึงควรเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ทางโรงเรียนได้ออกแบบเพิ่มเติมคือ พระขรรค์ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำองค์อุปการะสอดตามยาวของรูปโล่ และเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโรงเรียนสายปัญญา และสายปัญญาสมาคม ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงตราสมาคม โดยเพิ่มพระมหามงกุฏกษัตริย์ประดิษฐานเหนือตราเดิม และเปลี่ยนแปลงพระขรรค์เป็น 2 เล่ม ไขว้ขัดกันอยู่เบื้องหลังโล่
สีประจำโรงเรียน
อาจารย์ใหญ่ท่านแรก คือ ม.ร.ว.เตื้อง สนิทวงศ์ ทรงประทานให้ไว้ เนื่องด้วยทรงเห็นว่า “สีน้ำเงิน” เป็นสีที่ระลึกถึงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เนื่องจากทรงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และทรงใช้สีน้ำเงินเป็นเครื่องแบบกรมเจ้าท่า สำหรับ “สีเหลือง” เป็นสีประจำวันประสูติ (วันจันทร์) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงเป็นองค์อุปการะองค์ที่ 2
เพลงประจำโรงเรียน “เพลงสายฟ้า”
คำขวัญของโรงเรียน “นตถิ ปญญา สมาอาภา” หมายถึง “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
ดอกไม้ประจำโรงเรียน ดอกสุพรรณิการ์ (ดอกฝ้ายคำ)
อักษรย่อโรงเรียน ส.ป.
วิสัยทัศน์ “ สายปัญญาสืบสานงานฝีมือ ยึดถือคุณธรรม มุ่งนำวิชาการสู่มาตรฐานสากล
ดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ปรัชญาของโรงเรียน “ประพฤติดี วิชาดี มีทักษะ พละเด่น”
ประพฤติดี หมายถึง เป็นผู้มีระเบียบวินัยในตนเอง มีคุณธรรม ความดีงาม รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
วิชาดี หมายถึง การเป็นผู้มีความรู้ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา
มีทักษะ หมายถึง มีความขยันในการทำงานและฝึกฝนจนสามารถนำความรู้และความชำนาญไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพละเด่น หมายถึง ความเป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีน้ำใจนักกีฬา เล่นกีฬาเป็น
เอกลักษณ์ของโรงเรียน “สืบสานงานฝีมือ ยึดถือคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
สืบสานงานฝีมือ หมายถึง สืบทอดงานด้านศิลปหัตถกรรมที่มีคู่กับโรงเรียนสายปัญญาฯตลอดมา
ยึดถือคุณธรรม หมายถึง มีความรักชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนา เทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ใน ชีวิตประจำวันในเรื่องของการประหยัด
พลังงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
อัตลักษณ์ของโรงเรียน “กุลสตรี มีปัญญา” นักเรียนของโรงเรียนสายปัญญาฯ มีคุณลักษณะ ดังนี้
กุลสตรี หมายถึง 1. แต่งกายและมีทรงผมถูกระเบียบ
2. มีกิริยา วาจา สุภาพเรียบร้อย
3. รักษาระเบียบวินัย และชื่อเสียงของโรงเรียน
4. มีจิตอาสา ใฝ่ใจบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสังคม
มีปัญญา หมายถึง 1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่โรงเรียนกำหนด
2. นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (28 สิงหาคม พ.ศ. 2427 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง (พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2427 มีพระโสทรอนุชา 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
ลายพระอภิไธย
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงรับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระโสทรอนุชามาอุปการะ
พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิทได้ทรงบำเพ็ญพระองค์สนองพระมหากรุณาธิคุณมาตลอดพระชนมชีพ ทรงสนพระทัยประกอบเครื่องเสวยถวาย ทั้งในยามทรงพระประชวร และยามปกติ โดยทรงเลือกเครื่องปรุงที่มีคุณค่าทางอาหารเป็นพระโอสถไปในตัว ด้วยทรงได้รับความรู้จากพระอัยกาฝ่ายพระมารดา คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประมุขกรมหมอหลวง และเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477 สิริพระชันษา 49 ปี[1]
ตำรับสายเยาวภาเกิดขึ้นจากการรวบรวม-เรียบเรียง จากบรรดาพระประยูรญาติ ข้าหลวง และคณะครูโรงเรียนสายปัญญา ได้พร้อมใจกันเขียนตำรับอาหารคาวหวานตำรับสายเยาวภาของสายปัญญาสมาคม เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้ประทานลิขสิทธิ์แก่ หม่อมราชวงศ์เตื้อง สนิทวงศ์ (อาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนสายปัญญา)
พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์